The Source of Power !

Pattarapon Lertratananont
2 min readJul 6, 2022

--

พลังที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง

เป็นคำที่คิดว่าหลายๆ คนคงเห็นผ่านกันมาบ้าง แล้วพลังในชีวิตจริงของเรามีอะไรบ้างล่ะ ทำไมเราถึงรู้สึกว่าคนอื่นอยู่เหนือเรา ถ้าเรามีพลังเราจะสามารถนำไปใช้อย่างไรดี ในบทความนี้ จะเป็นการสรุปความเข้าใจในเรื่องราวเหล่านี้กัน

พลัง/อำนาจนั้นแบ่งได้ 6 อย่างตามที่ John French และ Bertram Raven อธิบายเอาไว้ เป็นมุมมองของการใช้อำนาจที่โน้มน้าว/บังคับ/ทำให้ผู้อื่น เห็นด้วย/ทำตามเรา

Source Of Power https://www.youtube.com/watch?v=gh7jJiAuku8

Legitimate Power

อำนาจของตำแหน่งและสถานะ
Legitimate Power เกิดจากการที่เราอยู่ในตำแหน่งหรือสถานะทางสังคม ทั้งอายุและศักดินาที่สูงกว่าคนอื่น ทำให้เรามีอำนาจมากกว่าคนอื่น จะมองเป็นอำนาจที่ดีก็ได้ อำนาจที่ไม่ดีก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเรานำอำนาจนี้ไปใช้อย่างไร

ตัวอย่างการใช้อำนาจ— นาย A เป็นผู้บริหาร เข้าร่วมประชุมแผนกับทีม นาย B เป็นพนักงานธรรมดา นำเสนอความคิด แผนการให้นาย A ที่เป็นผู้บริหารฟัง หลังจากฟังเสร็จ นาย A บอกออกไปว่า “ผมคิดว่า ผมอยากเปลี่ยนเป็น….แบบนี้ คุณ B คิดว่าอย่างไร” ด้วยความห่างกันของตำแหน่งนั้นอาจทำให้นาย B ไม่กล้าที่จะโต้แย้งหรือเสนอไอเดียอื่นๆ ได้ ก็เพียงได้แค่ตอบว่า “เห็นด้วยครับ”

ตัวอย่างการใช้อำนาจ — นาย A เป็นผู้ว่าจังหวัดกรุงเทพฯ ได้บอกกับเจ้าหน้าที่ทุกคนว่า “ถ้าเจอใครทำผิด ก็ขอให้แจ้งและบอกกับผมได้เลย อย่าได้กลัวว่าจะถูกทำอะรไม่ดี ผมจะเอาตำแหน่งของผมสู้เอง” ด้วยความที่นาย A มีตำแหน่งและอำนาจที่สามารถปกป้องลูกน้องได้จริง นั่นทำให้คำพูดของนาย A มีน้ำหนักและสามารถทำให้ลูกน้องทุกคนเชื่อได้

Coercive Power

อำนาจของการลงโทษ
Coercive Power เป็นอำนาจที่คุณอยู่ฐานะ/ตำแหน่งที่สามารถให้บทลงโทษกับอีกคนหนึ่งได้ อำนาจนี้เป็นอำนาจที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะเป็นอำนาจที่ให้ความรู้สึกแง่ลบกับผู้ถูกใช้อำนาจ

ตัวอย่างการใช้อำนาจ — นาย A เป็นคุณครูที่ให้แบบทดสอบกับเด็กนักเรียน เค้าขอให้นักเรียนช่วยแบกของ และช่วยทำความสะอาดรถยนต์ให้ โดยบอกว่าถ้านักเรียนไม่ทำตาม จะกดเกรดของนักเรียนคนนั้น ด้วยความที่ไม่มีนักเรียนคนไหนอยากโดนกดเกรด จึงจำเป็นต้องทำตามที่คุณครูบอก

ตัวอย่างการใช้อำนาจ — นาย B เป็นพนักงานทั่วไป ทำงานอย่างหนักหน่วงในโปรเจค จนหามรุ่งหามค่ำ เพราะนาย A ที่เป็นผู้บริหารบอกว่า ถ้าโปรเจคนี้ไม่สำเร็จตามแผน จะสั่งพักงานคนที่ทำในโปรเจคนี้ทั้งหมดและจะไม่ได้โบนัสด้วย

Reward Power

อำนาจของการให้รางวัล
Reward Power เป็นอำนาจที่ให้พลังเชิงบวกกับผู้ที่ถูกใช้อำนาจ แต่ถ้าใช้อำนาจนี้เยอะเกินไป ก็จะส่งผลเสียหรือพลังเชิงลบได้เช่นกัน

ตัวอย่างการใช้อำนาจ — คุณแม่บอกกับลูกสาวที่กำลังจะสอบ Final ว่าถ้าหากสอบได้เกรด 4 จะซื้อของเล่นที่อยากได้ให้ 1 อย่าง ลูกสาวจึงพยายามเต็มที่กับการสอบ เพื่อให้ได้ของเล่นที่เธออยากได้ ซึ่งถ้าทำแบบนี้เป็นประจำ ในการสอบไหนที่คุณแม่ไม่ได้จะให้ของกับลูกสาว ก็อาจทำให้เกิดข้อโต้เถียงซึ่งอาจนำไปเป็นการทะเลาะภายในครอบครัวได้ ถ้าลูกสาวนั้น “เคยตัว” กับการได้รับรางวัลจากคุณแม่

ตัวอย่างการใช้อำนาจ — พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง มี KPI ในด้านปริมาณของงาน ถ้าใครหรือทีมไหน สามารถส่งมอบงานในปริมาณที่มาก คน/ทีมก็จะได้รับโบนัสเยอะขึ้นตามจำนวนงาน ถ้าเป็นในมุมลูกจ้างนั้นอาจจะดี แต่ในมุมการส่งมอบคุณค่าของงานให้กับผู้ใช้งาน หรือในมุมบริษัทที่ได้แค่ปริมาณ ไม่ใช่ คุณภาพของงาน ก็อาจส่งผลเสียในอนาคตได้

Referent Power

อำนาจของความสนิทและความหลงใหล
Referent Power เป็นอำนาจที่คลุมเครือว่าจะให้พลังเชิงบวกหรือลบ เพราะสามารถเป็นได้ทั้งคู่ Reference Power คืออำนาจที่มาจากความสนิท หรือ ความหลงใหลในตัวบุคคลผู้ที่ใช้อำนาจ เราจะคล้อยตามหรือเชื่อถือคำพูดจากคนสนิท หรือคนที่เราชื่นชอบได้ง่ายกว่าคำพูดของคนอื่นทั่วไป

ตัวอย่างการใช้อำนาจ — ศิลปิน A พูดในรายการว่าชอบใช้ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ B แฟนคลับที่ชื่นชอบศิลปิน A ก็พาไปกันซื้อผลิตภัณฑ์นี้มาใช้ตามกัน

ตัวอย่างการใช้อำนาจ — นาย A เป็นเพื่อนกับนาย B โดยวันหนึ่งนาย A ชวนนาย B ทดลองยาเสพติด โดยบอกว่าไม่ต้องห่วง ครั้งเดียวไม่เป็นไรแน่นอน ด้วยความที่นาย B นั้นสนิทกับนาย A มากจึงเชื่อคำพูดของนาย B และได้ทดลองยาเสพติดตามที่นาย A เชื่อเชิญ

Expert Power

อำนาจของความเก่งกาจเฉพาะทาง
Expert Power เป็นอำนาจที่เห็นได้ชัดและเข้าใจได้ง่ายที่สุด เมื่อเราพูดกับคนที่มีความรู้ในด้านนั้นมากกว่าเรา เราจะเชื่อคำพูดของคนนั้นได้ง่ายมาก

ตัวอย่างการใช้อำนาจ — นาง A ต้องไปพบหมอ เพราะปวดหัวเป็นอย่างมาก โดยก่อนจะพบหมอ ได้เข้าไปหาข้อมูลว่า ปวดหัวแบบนี้ เสี่ยงเป็นอะไร เมื่อค้นหาข้อมูลทำให้นาง A วิตกเป็นอย่างมากก่อนพอหมอเฉพาะทาง เมื่อเข้าไปพบคุณหมอ คุณหมอบอกว่าเป็นอาการของการพักผ่อนน้อย มีความเครียดสะสม แก้ได้ด้วยการลองหาอะไรผ่อนคลายทำ ลางานไปเที่ยว พักผ่อนให้เพียงพอ นาง A ก็เชื่อคำของคุณหมอ และไม่วิตกกับสิ่งที่ค้นหามาเองอีกเลย

Informational Power

อำนาจของผู้ที่มีข้อมูลเยอะกว่า
Informational Power โดยปกติแล้ว การโต้เถียงหรือคุยข้อสงสัยนั้นจะถูกผู้ที่มีข้อมูลในเรื่องนั้นๆ พาไปถึงจุดจบของบทสนทนาได้มากกว่าผู้อื่น เพราะคำพูดที่พูดออกมาจะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่สามารถโน้มน้าวผู้อื่นให้เชื่อได้

ตัวอย่างการใช้อำนาจ — ทีมทำซอฟต์แวร์กำลังประชุมกันเรื่องผลสรุปการทำ A B Testing ที่ไปสำรวจกับผู้ใช้งานว่าอยากได้หน้าตาของระบบแบบ A หรือ B ได้มีข้อคำถามหลังจากทดสอบว่า แบบ A กับ B นั้นต่างกันยังไง วิธีการทำทดสอบคืออะไร ถึงทำให้เกิดผลลัพธ์แบบนี้ ผู้ที่จะตอบได้ดีและชัดเจนที่สุด ก็คือฝ่าย UX/UI ที่ออกแบบและนำหน้าตาของระบบ ไปให้ผู้ใช้งานทำ A B Testing ฝ่ายอื่นเช่น Developer หรือ Tester ก็จะเชื่อคำพูดรวมทั้งคำอธิบายของฝ่ายที่มีข้อมูลเยอะกว่าตน

คนเราสามารถมีอำนาจทั้งหมดนี้ได้ในหนึ่งเรา อำนาจอาจจะปะปนกันไปในแต่ละบริบท สถานการณ์ เหตุการณ์ในเวลานั้นๆ เพียงแต่เราต้องรู้จักอำนาจที่เรามี ต้องรู้วิธีใช้มันอย่างชาญฉลาด เพื่อให้อำนาจนั้นยังคงอยู่กับเราและแผ่พลังงานเชิงบวกให้กับคนรอบข้าง

*ตัวอย่างการใช้อำนาจนั้นเป็นเพียงความเข้าใจของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ได้นำมาจากที่อื่นหรืออ้างอิงในเหตุการณ์จริง/บุคคลจริงแต่อย่างใด

Reference:
https://www.youtube.com/watch?v=S4V2FlNR_h4
https://www.businessinsider.com/the-7-types-of-power-that-shape-the-workplace-2013-7

--

--